การว่าจ้างบุคลากรที่มีความสามารถในโลกหลังการแพร่ระบาด

article

มาสำรวจดูว่าเพราะเหตุใดจึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องค้นหาและว่าจ้างบุคลากรที่มีความสามารถ ซึ่งแสดงศักยภาพและมีคุณสมบัติในการคิดอย่างสร้างสรรค์ ทำงานอย่างยืดหยุ่น และตัดสินใจได้อย่างมีวิจารณญาณ อ่านเลย 
 
หากคุณย้อนเวลากลับไปบอกพนักงานออฟฟิศจากยุค 90 ว่างานในแต่ละวันของพวกเขาจะเป็นอย่างไรในปี 2020 พนักงานคนนั้นคงหัวเราะใส่คุณในห้องทำงานเล็กๆ ของพวกเขา จากนั้นคุณก็จะโดนพาเดินผ่านเครื่องทำน้ำเย็นกับห้องเก็บอุปกรณ์เครื่องเขียนออกไป พนักงานในจินตนาการคนนี้จากยุคที่ใช้กระดาษกับอินเทอร์เน็ตแบบ dialup ไม่มีทางเข้าใจได้เลยว่า งานของพวกเขานั้นสามารถทำได้จากที่อื่นที่ไม่ใช่สำนักงาน   

แต่เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับพนักงานในจินตนาการคนนี้ เพียงหนึ่งปีที่แล้ว ก็คงไม่มีใครคาดคิดว่า การเดินทางยามเช้าในอนาคตของเราจะต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ เราไม่ได้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และฝ่าการจราจรที่ติดขัด แต่เราแค่เดินผ่านโถงบ้านไปยังสำนักงานชั่วคราว ที่บ้านของเราเอง องค์กร (และพนักงานในองค์กร) ต่างเข้าสู่การทำงานรูปแบบใหม่โดยมีการใช้แพลตฟอร์มการประชุมทางวิดีโอ และพึ่งพาเทคโนโลยีบนคลาวด์มากขึ้น และมีการปรับตัวเพื่อให้ทำงานจากระยะไกลได้ทันที 

องค์กรและพนักงานได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของพวกเขา 

Microsoft ระบุว่าในช่วงแรกของการแพร่ระบาดสถิติของเวลาในการประชุมประจำวันได้ถูกทำลายลงอย่างราบคาบ โดยสถิติที่บันทึกไว้ก่อนหน้านี้คือ 900 ล้านนาที เมื่อวันที่ 16 มีนาคม และจำนวนดังกล่าวได้พุ่งขึ้นเป็น 2.7 พันล้านนาที ในการประชุมวันที่ 31 มีนาคม ซึ่งพุ่งทะยานขึ้น 200% ในเวลาเพียงแค่ 15 วันเท่านั้น ข้อมูลนี้อาจไม่น่าแปลกใจนัก เมื่อดูจากนโยบายการทำงานจากที่บ้านทั่วโลกที่ทีมงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ประกาศใช้ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า องค์กรที่มีความคล่องตัวต้องทำอย่างไร เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงเวลาที่ไม่คาดคิด 

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้เร่งแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นให้เร็วขึ้นไปอีก เช่น ปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า และระบบอัตโนมัติ แม้ว่าการแพร่ระบาดนี้จะไม่ได้เป็นตัวกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยตรง แต่ก็ช่วยเร่งแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นให้มาถึงเร็วยิ่งขึ้น การแพร่ระบาดส่งผลต่อวิธีการทำงานของเรา และสร้างความท้าทายด้านทรัพยากรบุคคลในการดำเนินงานที่เป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) ที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาและดูแลบุคลากรที่มีความสามารถที่ทำงานได้ 

การดูแลบุคลากรที่มีความสามารถเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก 

และตอนนี้การสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถ และมีคุณสมบัติในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในวิถีชีวิตแบบใหม่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง จากการวิจัยของ Pearson ระบุว่า องค์กรต่างๆ กำลังพยายามเฟ้นหาผู้สมัครมาทำงานในตำแหน่งที่ว่างอยู่ และประเมินผลชุดทักษะของผู้สมัครอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ผู้หางานยังพบว่า ตนเองกำลังเผชิญปัญหาด้านความก้าวหน้าในอาชีพ กล่าวคือ พวกเขาพบว่าตนเองมีคุณวุฒิสูงเกินไป มีทักษะต่ำเกินไป หรือในบางกรณีก็เป็นทั้งสองอย่าง 

การวิจัยพบว่าฝ่ายทรัพยากรบุคคล และผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้และการพัฒนามุ่งเน้นไปที่การค้นหาว่า ผลกระทบจากโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ส่งผลต่อองค์กรของพวกเขา รวมถึงโครงสร้างทักษะของพนักงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเข้าใจ (และการระบุ) ช่องว่างของทักษะอย่างไร จากข้อมูลพบว่า 57% ของความต้องการในองค์กรก็คือ การทำความเข้าใจถึงการแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของทีม วิธีการทำงาน และการออกแบบองค์กรโดยรวม และ 33% ต้องการมุ่งเน้นที่การเพิ่มทักษะใหม่ให้กับพนักงาน 

วิธีการทำงานแบบใหม่นี้ทำให้ทักษะด้านอารมณ์และสังคม เช่น การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การปรับตัว การทำงานร่วมกัน และการสื่อสาร มีความสำคัญเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ แม้ทักษะด้านอารมณ์และสังคมจะถูกมองว่ามีความสำคัญในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีช่องโหว่ให้เห็นระหว่างผู้หางานและแรงงานในปัจจุบัน การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อนเป็นทักษะด้านอารมณ์และสังคมสองทักษะ ซึ่งเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมแต่กลุ่มบุคลากรที่มีความสามารถกลับไม่มีทักษะนี้ 

การวิจัยของ Pearson พบว่าทักษะ 10 อันดับแรกที่องค์กรต่างๆ ต้องการโดยเรียงลำดับตามความสำคัญนั้น มีดังต่อไปนี้

  1. ความสามารถในการปรับตัวและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (38%) 
  2. การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการตัดสินใจ (34%) 
  3. การประมวลผลและการตีความข้อมูลที่ซับซ้อน (31%) 
  4. การบริหารโครงการ (29%) 
  5. ความเป็นผู้นำและการจัดการผู้อื่น (27%) 
  6. ทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐาน (25%) 
  7. ทักษะไอทีขั้นสูงและการเขียนโปรแกรม (25%) 
  8. ทักษะเชิงปริมาณและสถิติ (22%) 
  9. การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงและทักษะทางคณิตศาสตร์ (22%) 
  10. การเป็นผู้ประกอบการและการริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ (20%)